วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2557

The Song of Olympism: Grawe Geela Song (Thai Version)


เพลงกราวกีฬา: บทเพลงเเห่งอุดมการณ์โอลิมปิก

โอลิมปิกเกมส์โบราณ (Ancient Olympic Games) เมื่อ 776 ปีก่อนคริศตศักราช (776 B.C.) จากหลักฐานตามประวัติศาสตร์ที่ได้มีการบันทึกไว้ และรวมถึงเรื่องราวจากโบราณสถานที่สำคัญๆต่างๆที่ยังเหลืออยู่ ณ Ancient Olympia นั้น เป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญในอดีตที่สื่อถึงเทพนิยายอันเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับเทพเจ้า ที่เป็นจุดรวมใจของมวลมนุษยชาติ ซึ่งได้บ่งชี้ว่าจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของโอลิมปิกเกมส์โบราณ เมื่อราว 2,787 ปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการบูชาเทพเจ้าด้วยการใช้ความมุ่งมั่น พยายามฟันฝ่าอุปสรรค อดทน และฝึกฝนตนเองให้แข็งแกร่ง เชี่ยวชาญในชนิดกีฬาที่ตนเข้าร่วมการแข่งขัน โดยผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดจะได้รับมงกุฏช่อมะกอกเพียงช่อเดียว ซึ่งเป็นปริศนาให้ขบคิดกันว่าสุดท้ายแล้วรางวัลที่ได้รับไม่ได้เป็นทรัพย์สินที่มีราคาค่างวดแต่อย่างใด เพียงแต่รางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่นักกีฬาได้รับ คือการมีส่วนร่วมในการแข่งขันและการที่ได้เรียนรู้ระหว่างเส้นทางแห่งความมานะพยายามสู่ความสำเร็จของตนเอง และถือว่าเป็นแก่นแท้ของอุดมการณ์โอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในปี คศ.1896 ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ตามเจตนารมณ์ของท่าน บารอน ปีแอร์ เดอ คูเบอร์แตง (Baron Pierre de Coubertin) ซึ่งท่านได้เคยกล่าวไว้ว่า “The most important thing is not to win but to take part” กล่าวคือ ความสำคัญแห่งโอลิมปิกหาใช่ชัยชนะไม่ หากอยู่ที่การเข้าร่วมการแข่งขันกันอย่างมีเกียรติ โดยเป็นหลักแนวคิดที่สำคัญเกี่ยวกับอุดมการณ์โอลิมปิก (Olympism) ซึ่งเป็นปรัชญาที่สามารถช่วยสร้างเสริมคุณภาพชีวิต และช่วยให้เกิดสันติสุขแก่มวลมนุษยชาติได้โดยให้ทุกคนเห็นคุณค่าของกีฬา (Sport Values) เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และความดื่มด่ำในคุณค่าของโอลิมปิกที่เกี่ยวข้องกับความเยี่ยมยอด (Excellence) มิตรภาพ (Friendship) และการเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน (Respect)

อุดมการณ์โอลิมปิก ที่พวกเราทุกคนซึมซับในคุณค่าที่ได้รับจากการถ่ายทอดมาอย่างยาวนาน โดยผ่านกระบวนการโอลิมปิก (Olympic Movement) และเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์โอลิมปิกสำหรับประชาชนทุกเพศ ทุกวัย โดยใช้กิจกรรมโอลิมปิกศึกษา (Olympic Education) ที่หลากหลาย ซึ่งในการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อการมีส่วนร่วมและให้เห็นถึงคุณค่าของกีฬานั้น ประเทศไทยมีเพลงๆหนึ่งที่คนไทยทุกคนคุ้นเคย และเชื่อว่าทุกคนได้ซึมซับในเนื้อร้องและทำนองที่มีคุณค่าอันเป็นประโยชน์ที่จะส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของกีฬา เพลงนั้นคือ “เพลงกราวกีฬา” ประพันธ์มาแล้วกว่า 87 ปี เมื่อปี พ.ศ.2467 (ค.ศ.1942) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ได้ประพันธ์บทเพลงนี้ขึ้น ซึ่งมีเนื้อร้องที่ได้อธิบายถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายและเล่นกีฬา โดยจะสามารถช่วยพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และมีประโยชน์มากกว่ายาขนานใดๆ ซึ่งในประเทศไทยมีการส่งเสริมให้นักกีฬาและบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในบริบทของกีฬาได้รับความรู้ ความเข้าใจในจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการแข่งขันกีฬาจากบทเพลงนี้ เพื่อให้เห็นความสำคัญของการมีน้ำใจนักกีฬา (sportsmanship) ปลูกฝังจิตวิญญาณที่ดีให้กับนักกีฬา เพื่อให้วงการกีฬายังคงเป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่น ความพยายาม การฝึกฝน ความเชี่ยวชาญ และความรักสามัคคีของมวลมนุษยชาติสืบต่อไป ดังอุดมการณ์โอลิมปิกที่สอดคล้องกับเนื้อร้องของเพลง “กราวกีฬา” ที่ร้อยเรียงบทประพันธ์ด้วยเนื้อร้องและทำนองได้อย่างสุนทรีย์และมีคุณค่า ดังนี้

เนื้อเพลงกราวกีฬา---ถอดความ
พวกเรานักกีฬาใจกล้าหาญ (ตัวเราเหล่านักกีฬาผู้มีจิตใจที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยว)
เชี่ยวชาญชิงชัยไม่ย่นย่อ (มีความเชี่ยวชาญทางด้านกีฬาเพื่อชิงชัยอย่างไม่ท้อถอย)
คราวชนะรุกใหญ่ไม่รีรอ (คราวเกมชนะก็จะรุกไล่ไม่ให้เสียโอกาส)
คราวแพ้ก็ไม่ท้อกัดฟันทน (คราวเกมแพ้ก็จะไม่ท้อถอยและจะพยายาม อดทนฟันฝ่าต่ออุปสรรคต่างๆ)


(สร้อย) ฮึม ฮึม ฮึม ฮึม
กีฬา กีฬาเป็นยาวิเศษ ฮ้าไฮ ฮ้าไฮ (กีฬา คือยาวิเศษที่มีสรรพคุณมากกว่ายาขนานใดๆ)
กีฬา กีฬาเป็นยาวิเศษ (กีฬา กีฬาเป็นยาวิเศษ)
แก้กองกิเลสทําคนให้เป็นคน (เป็นยาวิเศษที่จะขัดเกลาให้คนเป็นคนดี)
ผลของการฝึกตน (ผลของการฝึกฝนตนเองในเชิงกีฬา)
เล่นกีฬาสากล ตะละล้า (โดยการเล่นกีฬาอย่างเกมสากลนิยม)

ร่างกายกํายําล้ำเลิศ (ร่างกายแข็งแกร่งเป็นเลิศ)
กล้ามเนื้อก่อเกิดทุกแห่งหน (ความแข็งแกร่งของร่างกายส่งผลให้มีกล้ามเนื้อที่ดี)
แข็งแรงทรหดอดทน (ร่างกายจะแข็งแรงและยังมีความอดทนเป็นเลิศ)
ว่องไวไม่ย่น ระย่อใคร (รวดเร็ว กระฉับกระเฉง ไม่กลัวที่จะพ่ายแพ้ใคร) (สร้อย)

ใจคอมั่นคงทรงศักดิ์ (มีจิตใจเข้มแข็งมั่นคง)
รู้จักที่หนีที่ไล่ (รู้จักการเอาตัวรอดที่ดีในเกมส์การแข่งขัน)
รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย (เคารพในกฎกติกาและเล่นอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม)
ไว้ใจได้ทั่วทั้งรักชัง (ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ให้เคารพซึ่งกันและกัน) (สร้อย)

ไม่ชอบเอาเปรียบเทียบแข่งขัน (ไม่คิดกลอุบายในสิ่งที่มุ่งหวังเพื่อชัยชนะเพียงอย่างเดียว)
สู้กันซึ้งหน้าอย่าลับหลัง (ต่อสู้กันในเชิงกีฬาตามกฎกติกาที่กำหนดไว้)
มัวส่วนตัวเพื่อเหลือกําลัง (ไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาครุนคิดให้กังวลใจ)
เกลียดชังการเล่นเห็นแก่ตัว (นักกีฬาที่เล่นแบบเห็นแก่ตัวจะมีแต่คนรังเกียจเดียดฉัน) (สร้อย)


เล่นรวมกําลังกันทั้งพวก (สามัคคีเป็นพลังที่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน)
เอาชัยสะดวกไม่ใช่ชั่ว (ชัยชนะจะได้มาอย่างภาคภูมิใจโดยไม่ต้องใช้กลโกง)
ไม่ว่างานหรือเล่นเป็นไม่กลัว (ไม่ว่าจะเผชิญกับอะไรก็ตามจะไม่หวาดหวั่นต่อสิ่งนั้น)
ร่วมมือกันทั่ว ก็ไชโยฯ (ร่วมมือร่วมใจกันทุกคน ก็จะได้รับซึ่งชนะ (ร้องไชโย)) (สร้อย)

นับเป็นปราชญ์แห่งกวี สำหรับผู้ประพันธ์เพลงกราวกีฬา ที่ได้ทิ้งมรดกอันมีคุณค่าให้คนไทยได้ศึกษาและเป็นแนวทางในการเรียนรู้ ซึ่งจากบทเพลงได้ปลูกฝังคุณค่าของกีฬาให้ทุกคนได้ตระหนักและไม่ละเลยในความสวยงามของกีฬาอย่างแท้จริง สอดคล้องกับสถาบันวิทยาการโอลิมปิกระหว่างประเทศ (IOA) ที่ได้ส่งเสริมกิจกรรมโอลิมปิกศึกษามาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 50 ปี โดยเปรียบเสมือนแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญและเป็นศูนย์รวมวิทยาการที่เกี่ยวกับโอลิมปิกจากอดีตถึงปัจจุบันและพัฒนาสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การศึกษา ทั้งนี้ สถาบันวิทยาการโอลิมปิกระหว่างประเทศ (IOA) ได้มีการขยายเครือข่ายไปยังประเทศสมาชิกทั่วโลก 167 ประเทศ เพื่อกระจายองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับอุดมการณ์โอลิมปิกให้กับมวลมนุษยชาติได้ดื่มด่ำ และซึมซับคุณค่าอันเป็นมรดกที่ทิ้งไว้เพื่อให้สืบทอดสิ่งที่มีคุณค่านี้ต่อไป และกว่า 10 ปี ของสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย (TOA) ที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการโอลิมปิก โดยมีผู้นำที่มุ่งมั่น เปี่ยมล้นด้วยปณิธานของผู้มีจิตวิญญาณโอลิมปิก (Olympic spirit) อย่างท่าน รศ.ดร.สุพิตร สมาหิโต ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย ที่ได้นำบทเพลงแห่งอุดมการณ์โอลิมปิก “เพลงกราวกีฬา” นี้ มาเป็นเพลงประจำสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย เพื่อช่วยส่งเสริมและพัฒนาจิตสำนึกในคุณค่าของกีฬาให้กับเยาวชนไทย โดยผ่านกิจกรรมวัฒนธรรมโอลิมปิกและโอลิมปิกศึกษา (Olympic Culture and Education Activities) ให้ทุกคนได้รับรู้และเข้าใจถึงแก่นแท้ในคุณค่าของกีฬา และดำรงรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์โอลิมปิกสืบต่อไป

รวบรวมเเละเรียบเรียงโดย

นายสุริยัน สมพงษ์
8 พฤษภาคม 2554






1 ความคิดเห็น:

สุนทรียะโตเกียวเกมส์ (ตอนที่ 1) #สาระน่ารู้พิธีเปิดโตเกียวเกมส์

สุนทรียะโตเกียวเกมส์ ตอนที่ 1 สาระน่ารู้พิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ 2020 1.ผู้เเทนนักกีฬาถือธงชาตินำขบวนพาเหรดของเเต่ละ NOC ประกอบด้วย ผู้หญิง 1 ค...