วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557

จริยธรรมทางการกีฬา (Ethics in Sports)


บทคัดย่อ

จากบทความ เรื่อง “จริยธรรมทางการกีฬาฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายถึงความสำคัญของจริยธรรมทางการกีฬาที่มีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยใช้กีฬาเป็นสื่อในการที่จะเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง “กีฬา” จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมและปลูกฝังความมีน้ำใจนักกีฬา (sportsmanship) ให้เป็นค่านิยมและเป็นวัฒนธรรมที่จะสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป และกีฬายังเป็นกระบวนการพัฒนาคนให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ การมีน้ำใจนักกีฬาเป็นเรื่องที่พูดกันมากและพูดกันมานานแล้วว่า การเข้าร่วมกิจกรรมกีฬา ควรจะมีการเริ่มสร้างและพัฒนาโดยให้สอดแทรกความเป็นนักกีฬาและความมีน้ำใจนักกีฬา โดยให้เป็นวัตถุประสงค์หลักของการกีฬา ในการใช้กีฬาสร้างคนให้เป็นคนดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ ความคิดกับการกระทำสัมพันธ์กันหรือไม่ เพราะอาจจะคิดดี แต่ไม่ได้ทำ หรือทำไม่ได้ หรือทำแต่ผิด รวมทั้งที่ไม่ได้คิดแต่กระทำโดยไม่รู้ตัว หรือไม่ทราบว่าสิ่งที่ทำเป็นพฤติกรรมจริยธรรมการกีฬา หรือทั้งคิดและทำ หรือไม่ได้คิดและไม่ได้ทำ เหล่านี้เป็นสิ่งแรกที่ควรนำมาพิจารณาประกอบการตั้งจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการสร้างและพัฒนาจริยธรรม

ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่า ความมีน้ำใจนักกีฬา หรือการเล่นอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม (fair play) ในการกีฬา จึงเป็นทั้งปัญหาที่หาข้อสรุปหรือระบุให้แน่ชัดและเด็ดขาดไม่ได้ หากจุดมุ่งหมายในการแข่งขันกีฬานั้น ยังเน้นเรื่องของความเป็นเลิศมากเกินไป จุดมุ่งหมายหลักในการเล่นและการแข่งขันกีฬาของคนนั้น หรือทีมนั้น การกำหนดวิธีการและการกระทำ ความมีน้ำใจนักกีฬา หรือจริยธรรมการกีฬา ข้อกำหนดวิธีการ และการกระทำในการเข้าร่วมเพื่อความเป็นเลิศ หรือมุ่งที่ชัยชนะไม่เป็นเรื่องแปลก แต่หากมากเกินไปจนลืมนึกถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของการกีฬาคือการพัฒนาคนโดยสมบูรณ์ ก็ถือว่าการกีฬาประสบความล้มเหลว ไม่เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่แท้จริง แม้ว่าข้อกำหนด และวิธีการกระทำจริยธรรมของแต่ละคน แต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน แต่อย่างไรแนวทาง วิธีการและพฤติกรรมอย่างกลางๆ ควรได้รับการระบุไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งการจัดประสบการณ์ที่สร้างเสริมข้อกำหนดเหล่านั้น พร้อมกับการให้ความสำคัญ และอย่าเข้าใจผิดว่า จริยธรรมเกิดขึ้นได้เองโดยอัตโนมัติหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมกีฬา ซึ่งแนวคิดที่เรียกว่าจิตสำนึก เหตุผลทางจริยธรรมทางการกีฬา และพฤติกรรมความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา ควรมีการสร้างและปลูกฝังให้กับนักกีฬาทุกคน นอกจากนี้ ทุกคนควรมีโอกาสที่จะกระทำ หรือมีประสบการณ์ในการกระทำ หรือประพฤติจนเป็นอัตโนมัติ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเท่ากับว่า กีฬาจะสร้างคนให้เป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ ทั้งทางด้านร่างกาย ความคิด จิตใจ และสติปัญญาที่ดี โดยรวมเป็นความมีน้ำใจนักกีฬาที่เรียกว่า จริยธรรมทางการกีฬา (ethics in sports)

คำสำคัญ: จริยธรรมทางการกีฬา, ความมีน้ำใจนักกีฬา, การเล่นอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

บทนำ

“...การกีฬานั้นเป็นอุปกรณ์การศึกษาที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการกล่อมเกลาให้เด็กมีจิตใจอดทน กล้าหาญ รู้แพ้ รู้ชนะ ปลูกฝังพลานามัยให้แข็งแรง เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เด็กเป็นผู้มีสมรรถภาพทั้งในทางจิตใจและร่างกาย เป็นผลสืบเนื่องไปถึงการเป็นพลเมืองของชาติ อันเป็นยอดแห่งความปรารถนา... 

ความตอนหนึ่งจากพระบรมราโชวาทของสมเด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสวันเปิดงานกรีฑานักเรียน ประจำปี พ.ศ.2504 1(การกีฬาแห่งประเทศไทย2549) ซึ่งสามารถน้อมนำหลักปรัชญาที่แฝงด้วยคุณค่าจากวลีข้างต้น โดยนำมาเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า กีฬาที่ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และปลูกฝังความมีน้ำใจนักกีฬา (sportsmanship) ให้เป็นค่านิยมและเป็นวัฒนธรรมที่จะสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป ซึ่งกีฬายังเป็นกระบวนการพัฒนาคนให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ สอดคล้องกับ 2แผนพัฒนากีฬา​แห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2555-2559) ​ที่มีกรอบ​และทิศทาง​ใน​การบูรณา​การ​การ​ทำงานระหว่างหน่วยงาน​และภาคส่วนที่​เกี่ยวข้อง​ใน​การพัฒนา​การกีฬาของประ​เทศ​ เพื่อให้บรรลุ​เป้าหมายตามน​โยบายของรัฐบาล ตลอดจนเพื่อ​ใช้​เป็น​แนวทาง​ใน​การวาง​แผนปฏิบัติราช​การให้​เกิด​ความต่อ​เนื่อง​ใน​การพัฒนา​การกีฬาของประ​เทศ ซึ่งมีเป้าหมายหลักข้อแรกกล่าวไว้ว่า

“…เด็ก​และ​เยาวชน​ทั้ง​ในระบบ​โรง​เรียน​และนอกระบบ​โรง​เรียน อย่างน้อยร้อยละ 80 มี​ความรู้ความ​เข้า​ใจ มี​เจตคติ และทักษะ​ใน​การออกกำลังกาย​และ​การกีฬาขั้นพื้นฐาน มีคุณธรรม จริยธรรม มีระ​เบียบวินัย​ และน้ำ​ใจนักกีฬาตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ รวม​ทั้ง สามารถออกกำลังกาย​และ​เล่นกีฬา ชม​และ​เชียร์กีฬาตามระเบียบ ​และกฎ กติกา...

ซึ่งจะเห็นได้ว่า จริยธรรมในการเล่นกีฬา” จะสามารถทำให้ผู้เล่นกีฬามีคุณธรรม และรู้คุณค่าของกีฬา ดังต่อไปนี้ คือ ทำให้เกิดความมีระเบียบวินัย เช่นการเคารพระเบียบ กฎกติกาการแข่งขัน มีวินัยในตนเอง ทำให้มีความสามัคคี ความร่วมมือและความเสียสละ มีน้ำใจนักกีฬา ทำให้นักกีฬารู้จักตนเอง และรู้จักหน้าที่ของตนเอง ทำให้นักกีฬามีความรับผิดชอบ ซึ่งการมีน้ำใจนักกีฬา เป็นเรื่องที่พูดกันมากและพูดกันมานานแล้วว่า การเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาควรจะมีการเริ่มสร้างและพัฒนาโดยให้สอดแทรกความเป็นนักกีฬาและความมีน้ำใจนักกีฬา โดยให้เป็นวัตถุประสงค์หลักของการกีฬาในการใช้กีฬาสร้างคนให้เป็นคนดี ทั้งทางร่างกายและจิตใจ สิ่งที่ตามมาก็คือ ความคิดกับการกระทำสัมพันธ์กันหรือไม่ เพราะอาจจะคิดดีแต่ไม่ได้ทำหรือทำไม่ได้ หรือทำแต่ผิด รวมทั้งที่ไม่ได้คิดแต่กระทำโดยไม่รู้ตัว หรือไม่ทราบว่านี่เป็นพฤติกรรมจริยธรรมการกีฬาหรือทั้งคิดและทำ หรือไม่ได้คิดและไม่ได้ทำ เหล่านี้เป็นสิ่งแรกที่ควรนำมาพิจารณาประกอบการตั้งจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการสร้างและพัฒนาจริยธรรม หากต้องกำหนดให้แน่ชัดว่า ความเป็นนักกีฬาคืออะไร คำตอบที่ได้อาจจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับเราถามใคร นักกีฬาชาติ หรือนักกีฬาหัดใหม่ เพศอะไร ระดับการแข่งใด ระดับชาติที่แข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ หรือเพียงการแข่งขันเพื่อสันทนาการ รวมทั้งปรัชญา มาตรฐาน ค่านิยมของสังคมกีฬานั้นๆ ดังนั้นการกำหนดขอบเขตคำอธิบายโดยรวมและจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม ที่มีความเป็นกลางที่สุดที่จะให้นักกีฬาได้รับการพัฒนาความเป็น คน และพัฒนา จริยธรรม

จริยธรรมทางการกีฬา (Ethics in Sports)
เมื่อกล่าวถึงคำว่า จริยธรรมมักจะพิจารณาอยู่ในกรอบคิดเกี่ยวกับศาสนา เพราะว่า คำสอนทางศาสนามีส่วนสร้างระบบจริยธรรมให้สังคม ดังคำกล่าวของ 3ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (2528) ที่ว่า

“…จริยธรรมของสังคมไทยขึ้นอยู่กับระบบศีลธรรมของพุทธศาสนา ว่ากำหนดหลักในการปฏิบัติในชีวิตประจำไว้อย่างไร หลักจริยธรรมก็จะกำหนดให้ปฏิบัติตามนั้น...

ทั้งนี้ 4พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้ให้คำนิยามของคำว่า จริยธรรมคือธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม และเมื่อพิจารณาตามรูปคำดังกล่าว จริยธรรมนั้นมาจากคำว่า จริยะ กับ ธรรมะ โดยคำว่า จริยะ หมายถึง ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ ส่วน ธรรมะ หมายถึง คุณความดี คำสั่งสอนในศาสนา หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา ความจริง ความยุติธรรม ความถูกต้อง กฎเกณฑ์ กฎหมาย

หลักสำคัญเกี่ยวกับการสร้างและพัฒนาจริยธรรมการกีฬา ข้อควรระวัง 3 ประการ ในการสร้างและพัฒนาจริยธรรมทางการกีฬา คือ
1.จริยธรรมไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติหลังจากการได้เข้าร่วมกิจกรรมกีฬา
2.การมุ่งเพื่อชัยชนะมากเกินไปจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้นักกีฬาหลงทาง ขัดแย้งระหว่างจุดมุ่งหมายสูงสุดในการเข้าร่วม และแข่งขันกีฬา
3.การลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ทางการกีฬาให้ได้นั้น ต้องมีข้อกำหนด กฎระเบียบ ให้ดียิ่งขึ้น เช่น กฎ กติกา และบทลงโทษ สำหรับนักกีฬาที่กระทำผิด เป็นต้น รวมทั้งการปลูกฝังความคิดที่ถูกต้อง ความมีคุณธรรม เพื่อที่จะให้เหตุผลกับตนเองให้ได้ว่าการกระทำใดถูก-ผิด พึงประสงค์หรือไม่พึงประสงค์ สิ่งเหล่านี้มีรายละเอียดและคำอธิบายประกอบ ดังนี้
3.1.ความมีน้ำใจนักกีฬาไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติหลังจากการได้เข้าร่วม กิจกรรมกีฬาความมีน้ำใจนักกีฬาและการพัฒนาในด้านจิตใจ ควรได้รับการส่งเสริมในขณะเข้าร่วม โดยพยายามระบุเป็นเชิงพฤติกรรมมากกว่าการให้คิดเองหรือเกิดเองตามลักษณะของนักกีฬา ทั้งเพศ วัย จุดมุ่งหมายหรือแรงจูงใจในการเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาหรือเป้าหมายขององค์กรกีฬานั้นๆ รวมถึงวัฒนธรรมการกีฬาของแต่ละกีฬาย่อมให้คำจำกัดความเชิงพฤติกรรมของจริยธรรมต่างกัน ซึ่งหากไม่มีการบ่งชี้อย่างชัดเจน ย่อมทำให้เกิดพฤติกรรมตอบสนองต่อความคิดนั้นๆแตกต่างกัน จริยธรรมเป็นพฤติกรรมที่ได้รับการหล่อหลอมมาจากความเชื่อของสังคมและมาตรฐานของสังคมนั้นๆ จริยธรรมเกิดได้จากการเห็นตัวอย่าง การได้เห็นและการพยายามทำตาม ตลอดจนการได้แรงเสริมจากการกระทำนั้นๆว่าเป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์หรือไม่พึงประสงค์ในสังคมนั้น เช่น หากการโกงอายุเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและจากการเห็นตัวอย่างว่าทีมใดทีมหนึ่ง โกงอายุ แล้วทำให้ทีมนั้นชนะอาจเป็นสาเหตุให้เขาเอาแบบอย่างบ้าง หากทำไปเรื่อยๆ กรรมการจับไม่ได้ว่ามีการโกงอายุ และยังทำให้ทีมชนะย่อมทำให้ทีอื่นอยากทำบ้าง แต่ในทางตรงข้าม หากกรรมการจับได้ และมีการลงโทษ รวมทั้งหากโค้ชไม่ยินยอมเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับได้ ก็จะทำให้นักกีฬาอื่นกลัวที่จะโกงอายุ แม้ว่าจะทำให้ทีมชนะก็ตาม
 3.2 การมุ่งเน้นชัยชนะมากเกินไปทำให้การเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ และลดคุณค่าของจริยธรรมทางการกีฬา ในปัจจุบันการสร้างคุณค่าความสำคัญของ ชัยชนะ กับการแข่งขันกีฬามากจนเกินไป ทำให้คุณค่าที่แท้จริงจากการเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาลดลง การมุ่งมั่นเพื่อชัยชนะมากเกินไปจะทำให้ความคิดทางจริยธรรมการกีฬาต่ำกว่าจริยธรรมการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ ยังเป็นเหตุการณ์เพิ่มอัตราเสี่ยงการบาดเจ็บทางการกีฬามากขึ้นด้วย 
นอกจากนี้ยังทำให้เกิดคำกล่าวที่ว่า คนดีอยู่นอกสนาม คนไม่ดีเท่านั้นจึงอยู่ในสนามได้ ซึ่งทั้งนี้ก็เป็นผลมาจากมุ่งมั่นที่จะชนะมากเกินไป จึงทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว (egocentric) ความต้องการที่จะเอาชนะ การใช้วิธีการที่อาจไม่ถูกต้องเหมาะสมต่างๆ เพื่อให้ได้เป็นผู้ชนะ เช่นการใช้สารกระตุ้น หรือกลโกงต่างๆเพื่อให้ได้เปรียบคู่ต่อสู้ ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า ความเห็นแก่ตัวเป็นการทำให้ความมีน้ำใจนักกีฬาลดลงนั่นเอง คำพูดดังกล่าวข้างต้นดูราวกับว่าจะเป็นการกล่าวร้ายเกินไปและเป็นการที่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการกีฬาหรือการแข่งขันกีฬา เพราะการแข่งขันกีฬาย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการกีฬาที่ช่วยในการพัฒนาทั้งความสามารถทางการกีฬาและการพัฒนาความเป็นนักกีฬา เพียงแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องระมัดระวังและให้ความสำคัญของการแข่งขันให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของการแข่งขันกีฬาที่แท้จริง มากกว่าการที่จะมุ่งเน้นที่การแพ้-ชนะมากเกินไป จนยอมที่จะกระทำการต่างๆเพื่อชัยชนะ ซึ่งจะทำให้คำกล่าวนั้นเป็นจริง และเท่ากับว่ากีฬาทำลายคนได้เช่นเดียวกับการสร้างคน หรือเท่ากับการสร้างคนไม่เต็มคน คือ ดีแต่ร่างกาย ไม่ได้ช่วยพัฒนาจิตใจเลย
3.3 การลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์โดยการเปลี่ยนองค์ประกอบภายนอกทางการกีฬา เช่นเดียวกับการสร้างแนวคิดภายในตัวนักกีฬาเอง สิ่งแรกที่ควรจะกำหนดหรือระบุว่าจริยธรรม ความมีน้ำใจนักกีฬาคืออะไร ให้เป็นเชิงพฤติกรรม ให้ทุกคนทราบแนวปฏิบัติ เช่น การสลับกันเล่น การเคารพกฎ การแสดงความยินดีกับทีมชนะ ให้กำลังใจทีมแพ้ การให้แรงเสริม และการให้ผลย้อนกลับ การกระทำที่ตอบสนองกับความมีน้ำใจเชิงพฤติกรรมที่ได้กำหนดไว้และลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม

นอกจากนี้การสร้างเสริมแนวคิดภายในตัวนักกีฬาเองต้องกระทำเช่นกัน โดยการชี้ให้เล่นหรืออธิบายถึงความเป็นไปในสนามและในชีวิตประจำวันว่าสอดคล้องกัน เปิดโอกาสให้มีการพูดคุยถึงข้อขัดแย้งต่างๆของเหตุการณ์ต่างๆทางการกีฬาว่าเป็นอย่างไร ทางออกที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร เช่น ในการเล่นบาสเกตบอล เราวิ่งชนฝ่ายตรงข้ามล้มโดยไม่เจตนา เราควรจะต้องจับมือเพื่อช่วยให้เขาลุกขึ้นหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือ ถ้าหากว่าเราไม่อยู่ในสภาวะที่ต้องครอบครองบอลในขณะนั้น แม้ว่าหากปล่อยในเขาล้มอยู่ ทีมของเราจะส่งบอลได้เร็วขึ้นก็ตาม หรือทำไมจึงไม่โกงอายุมาก ประสบการณ์มาก ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันกีฬา เป็นต้น นอกจากนี้ ควรมีการนำตัวอย่างที่เกี่ยวข้องระหว่างจริยธรรมกับจุดมุ่งหมายในการแข่งขันให้นักกีฬาได้ถกเถียงกัน ดังตัวอย่าง นักกีฬาเรือใบของประเทศสหรัฐอเมริกา หยุดช่วยนักกีฬาสาธารณรัฐเกาหลี ทำให้เขาพลาดเหรียญทองไป ซึ่งจากการอภิปรายในทีมจะช่วยให้นักกีฬาเข้าใจหรือเรียนรู้เกี่ยวกับจริยธรรมดีขึ้น

ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่า ความมีน้ำใจนักกีฬาหรือการเล่นอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมในการกีฬา จึงเป็นทั้งปัญหาที่หาข้อสรุปหรือระบุให้แน่ชัดเด็ดขาดไม่ได้ หากจุดมุ่งหมายในการแข่งขันเพื่อประสงค์ความเป็นเลิศมากเกินไป จุดมุ่งหมายหลักในการเล่นและการแข่งขันกีฬาของคนนั้น หรือทีมนั้น การกำหนดวิธีการ และการกระทำ ความมีน้ำใจนักกีฬา หรือจริยธรรมทางการกีฬา ข้อกำหนดวิธีการ และการกระทำในการเข้าร่วมเพื่อความเป็นเลิศ หรือมุ่งที่ชัยชนะไม่ใช่เรื่องแปลก แต่หากมากเกินไปจนลืมนึกถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของการกีฬาคือการพัฒนาคนโดยสมบูรณ์ ก็ถือการกีฬาประสบความล้มเหลว ไม่เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่แท้จริง แม้ว่าลักษณะ ข้อกำหนด และวิธีการกระทำจริยธรรมของแต่ละคน แต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน แต่อย่างไร แนวทาง วิธีการและพฤติกรรมอย่างกลางๆ ควรได้รับการระบุไว้อย่างเด่นชัด รวมทั้งการจัดประสบการณ์ที่สร้างเสริมข้อกำหนดเหล่านั้น พร้อมกับการให้ความสำคัญ อย่าเข้าใจผิดว่าจริยธรรมเกิดได้เองโดยอัตโนมัติหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาแล้ว แนวคิดที่เรียกว่า จิตสำนึกเหตุผลทางจริยธรรมทางการกีฬา และพฤติกรรมความมีน้ำใจนักกีฬา ควรมีการสร้างและปลูกฝังให้กับนักกีฬาทุกคน นอกจากนี้ ทุกคนควรมีโอกาสที่จะกระทำหรือมีประสบการณ์ในการกระทำหรือประพฤติจนเป็นอัตโนมัติ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เท่ากับว่า กีฬาจะสร้างคนให้เป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ คือ ดีทั้งร่างกาย ความคิด จิตใจ และสติปัญญาที่รวมเป็นความมีน้ำใจนักกีฬาที่เรียกว่า “จริยธรรมทางการกีฬาสอดคล้องกับ 5สุพิตร สมาหิโต (2555) อธิบายว่า 

“...น้ำใจนักกีฬาในบริบทของกีฬานั้น เป็นการเล่นกีฬาด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม เที่ยงธรรม มีศักดิ์ศรี  ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และเล่นอย่างมิตรภาพ น้ำใจนักกีฬาเป็นเครื่องมือสำคัญในการก่อให้เกิดการเรียนรู้ในการปฏิบัติตน ในการจัดการระบบของเวลา การมีวินัยในตนเอง การเล่นอย่างขาวสะอาด มานะอดทนพยายามด้วยความชื่นบาน และเล่นอย่างมีศักดิ์ศรี หากจะมีคำถามว่า เรามีความเชื่อหรือไม่ว่าน้ำใจนักกีฬา เป็นเวทีของการพัฒนาชีวิต เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่าอย่างยั่งยืน เชื่อแน่ว่าทุกคนคงไม่ปฏิเสธ เพราะทุกคนเข้าใจดีว่า น้ำใจนักกีฬาเป็นวิถีแห่งชีวิต และช่วยส่งเสริมให้ชีวิตมีคุณค่าในทุกๆบริบท น้ำใจนักกีฬาสอนให้คนรู้จักเคารพเชื่อฟัง และปฏิบัติตามกฎ กติกา ยอมรับในการเป็นผู้ชนะ ขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธในการเป็นผู้แพ้ น้ำใจนักกีฬาสอนคนให้มีทักษะทางด้านสังคม สอนให้รู้จักการทำงานเป็นทีม เพราะทักษะของการทำงานเป็นทีม ทำให้ทุกคนเข้าใจในบทบาทของตนเอง ทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตาม การทำงานเป็นทีมเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่ช่วยทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่ม สร้างความมั่นใจให้กับผู้นำและผลที่จะได้ตามมาก็คือ ทำให้เกิดความสามัคคี ปรองดอง และเกิดสันติสุขตั้งแต่กลุ่มรากหญ้าไปจนถึงกลุ่มต่างๆในระดับชาติต่อไป…”

หากกีฬาจะเป็นสื่อสำคัญในการนำไปสู่การสร้างความมีน้ำใจนักกีฬาของคนในชาติ ประเด็นของข้อคำถามที่น่าสนใจก็คือ จะใช้กีฬาเป็นกิจกรรมที่ผสมผสานเข้าไปในการศึกษาทั้งหมดได้หรือไม่ แน่นอน คำตอบที่ได้รับก็คือเป็นไปได้ และควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะกีฬาเป็นสะพานเชื่อมโยงทำให้เกิดน้ำใจนักกีฬา และน้ำใจนักกีฬา ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นคุณค่าของการดำรงชีวิตที่เกิดขึ้นได้ในสถาบันการศึกษา ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทุกประเทศทั่วโลกจึงได้ยอมรับที่จะให้กีฬามีบทบาทสำคัญในสังคม ในการที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชาติ แก้ปัญหาของชาติ และช่วยกันขับเคลื่อนให้ประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องให้ความสนใจ เอาใจใส่ เอาจริงเอาจังกับการนำเอาองค์รวมของกีฬามาเป็นพื้นฐานในการวางแผนงานต่างๆ และจะต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดไป จึงจะทำให้เกิดผลอย่างยั่งยืน นักกีฬาผู้มีชื่อเสียงก็จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี สถานศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จะต้องให้ความรู้ จะต้องมุ่งเน้นให้นักเรียนเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับคำว่า น้ำใจนักกีฬา มากกว่าที่จะมุ่งให้ความสำคัญกับจำนวนเหรียญที่ได้จากการแข่งขัน หากทุกคนในชาติเป็นผู้มีน้ำใจนักกีฬา พวกเขาก็จะสามารถสร้างชาติให้มีความมั่นคงถาวร ทุกคนจะมีชีวิตอย่างสันติสุข

สรุปท้ายบท
จริยธรรมทางการกีฬานั้น มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งในด้านสุขภาพ พลานามัย และด้านจิตใจ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ประชาชนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม นำไปสู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ กีฬาถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว และชุมชน ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก จะอาศัยกระบวนการของกีฬา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อสร้างเครือข่ายชุมชน ตลอดจนการสร้างจิตสำนึกในการดำรงชีวิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีวินัย และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เคารพในสิทธิของตนเองและผู้อื่นเป็นรากฐานที่ดีของสังคม องค์กรของประเทศต่างๆทั่วโลก รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศจึงได้สนับสนุนให้มีการใช้กีฬา การออกกำลังกาย และนันทนาการ เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชากรของประเทศตน

จากบทสรุปข้างต้น กีฬาจะคงอยู่คู่มวลมนุษยชาติตราบชั่วลูกชั่วหลานได้นั้น จำเป็นจะต้องอยู่ในกรอบของคำว่า จริยธรรม” ฉะนั้น ความมุ่งใส่ใจในคุณค่าของ “จริยธรรมทางการกีฬา” จึงเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะพัฒนานักกีฬาควบคู่กับการพัฒนาความสามารถทางด้านกีฬา โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการกีฬา จึงควรที่จะมองให้รอบด้านอย่างลุ่มลึกเพื่อกีฬาจะได้คงอยู่คู่กับการเคลื่อนตัวของโลกสืบต่อไป

เอกสารอ้างอิง
1การกีฬาแห่งประเทศไทย (2549). หนังสือพระมหากษัตริย์นักกีฬา. การกีฬาแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ.
2แผนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2555-2559). กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. กรุงเทพฯ.
3ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (2528). พระพุทธศาสนากับคึกฤทธิ์. เดอะบุ๊ค เลิฟเวอร์ กรุงเทพฯ. 
4พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
5สุพิตร สมาหิโต (2555). วารสารวันโอลิมปิก 2012 (Olympic Day 2012). คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, กรุงเทพฯ.

รวบรวมเเละเรียบเรียงโดย

สุริยัน สมพงษ์
4 ตุลาคม 2555



1 ความคิดเห็น:

  1. ขออนุญาตนำไปสอน ในรายวิชากฎหมายกีฬานะคะ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ

สุนทรียะโตเกียวเกมส์ (ตอนที่ 1) #สาระน่ารู้พิธีเปิดโตเกียวเกมส์

สุนทรียะโตเกียวเกมส์ ตอนที่ 1 สาระน่ารู้พิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ 2020 1.ผู้เเทนนักกีฬาถือธงชาตินำขบวนพาเหรดของเเต่ละ NOC ประกอบด้วย ผู้หญิง 1 ค...