วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

วันโอลิมปิก (Olympic Day)



วันโอลิมปิก เป็นการเฉลิมฉลองวันคล้ายวันก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.1894 และได้ถือกำเนิดยุทธศาสตร์โอลิมปิกขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สำหรับผู้ที่ริเริ่มก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติคือท่านบารอน ปิแอร์ เดอ คูเบอแตงค์ ต่อมาท่านได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของโอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่ ดังนั้น วันที่ 23 มิถุนายนของทุกปี คณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ และคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ จำนวน 206 ชาติทั่วโลก จึงได้จัดงานมหกรรมการเฉลิมฉลองวันโอลิมปิกขึ้น เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของผู้ที่มีจิตวิญญาณโอลิมปิกที่ได้ทิ้งมรดกโอลิมปิกอันมีคุณค่ามหาศาลไว้ให้เด็กและเยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบทอดอุดมการณ์โอลิมปิกตราบนานเท่านาน

วิวัฒนาการของกิจกรรมวันโอลิมปิกได้พัฒนาต่อเนื่องมาเป็นลำดับดังนี้ ปฐมบทกิจกรรมวันโอลิมปิกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.1894 ซึ่งเป็นวันถือกำเนิดคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ และเป็นจุดเริ่มต้นของยุทธศาสตร์โอลิมปิก โดยมีสมาชิกร่วมการก่อตั้งทั้งสิ้น 12 ชาติ พร้อมลงคะแนนเสียงรับแนวความคิดของคูเบอแตงค์ในการรื้อฟื้นการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ
23 มิถุนายน ค.ศ.1948 ได้มีการจัดงานวันโอลิมปิกโลก (World Olympic Day) ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ 9 ชาติ ประกอบด้วย ออสเตรีย เบลเยี่ยม กรีซ แคนาดา อังกฤษ โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ อุรุกวัย และเวเนซุเอล่า ซึ่งทั้ง 9 ชาติดังกล่าวได้จัดงานเพื่อเฉลิมฉลองการก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติเป็นครั้งแรก

ค.ศ.1978 ธรรมนูญโอลิมปิก (Olympic Charter) ได้มีการระบุบทบัญญัติที่ว่าด้วยการส่งเสริมให้สมาชิกของคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ โดยเฉพาะคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติให้ดำเนินการจัดงานวันโอลิมปิกขึ้น เพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์โอลิมปิกและเป็นการเฉลิมฉลองการก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ

23 มิถุนายน ค.ศ.1978 คณะกรรมาธิการฝ่ายกีฬา คณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ ได้นำแนวคิดการจัดงานเฉลิมฉลองวันโอลิมปิกเป็นการวิ่งวันโอลิมปิก (Olympic Day Run) โดยกำหนดระยะทางวิ่ง 10 กิโลเมตร และคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติใช้แนวคิดนี้จัดกิจกรรมวิ่งวันโอลิมปิก จำนวน 45 ชาติทั่วโลก

23 มิถุนายน ค.ศ.2008 ครบรอบ 60 ปี การจัดงานเฉลิมฉลองวันโอลิมปิก และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนากิจกรรมการเฉลิมฉลองวันโอลิมปิกให้กว้างขวางมากขึ้น โดยจัดกิจกรรมวันโอลิมปิกบนพื้นฐานการส่งเสริมค่านิยมโอลิมปิกให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วทุกมุมโลกได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมวันโอลิมปิก

มีนาคม ค.ศ. 2009 แนวคิดขยับกาย ขยายการเรียนรู้ สู่การค้นพบ (Move Learn Discover) เป็นแนวคิดที่ผสมผสานการเรียนรู้ค่านิยมโอลิมปิกกับบริบทกิจกรรมที่หลากหลายของแต่ละประเทศ โดยใช้วันโอลิมปิกเป็นสื่อให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมและซึมซับค่านิยมโอลิมปิกไปพร้อมๆกับการเฉลิมฉลองการก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ

วันโอลิมปิก เป็นโอกาสที่ยอดเยี่ยมสำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนที่จะได้เรียนรู้ค่านิยมโอลิมปิกผ่านกิจกรรมสาระการเรียนรู้โอลิมปิกศึกษาจากหลักปรัชญาสู่การลงมือปฏิบัติ ประกอบด้วยหลัก 3 ประการ คือ 

           1. การเชื่อมโยงกิจกรรมการเรียนรู้จากค่านิยมโอลิมปิก (เช่น ประวัติความเป็นมาของโอลิมปิกเกมส์ ความหมายของสัญลักษณ์โอลิมปิก คบเพลิงโอลิมปิก ไฟโอลิมปิก คติพจน์โอลิมปิก คำปฏิญาณโอลิมปิก เป็นต้น)

          2. การสร้างงานศิลปะจากกิจกรรมการเรียนรู้ค่านิยมโอลิมปิก (เช่น การวาดภาพ การระบายสี การประดิษฐ์สัญลักษณ์โอลิมปิก การร้องเพลง การถ่ายภาพ เป็นต้น)

          3. กิจกรรมการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นหลักสำคัญของการเรียนรู้ค่านิยมโอลิมปิก (เช่น กิจกรรมทางกาย (physical activities) ทุกชนิดที่สอดแทรกการรับรู้ค่านิยมโอลิมปิก รวมถึงเกมการละเล่นและการแข่งขันกีฬา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ทักษะ และประสบการณ์จากหลักการและค่านิยมโอลิมปิก)

รวบรวมเเละเรียบเรียงโดย

ดร.สุริยัน สมพงษ์
สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย
14 พฤษภาคม 2561

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สุนทรียะโตเกียวเกมส์ (ตอนที่ 1) #สาระน่ารู้พิธีเปิดโตเกียวเกมส์

สุนทรียะโตเกียวเกมส์ ตอนที่ 1 สาระน่ารู้พิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ 2020 1.ผู้เเทนนักกีฬาถือธงชาตินำขบวนพาเหรดของเเต่ละ NOC ประกอบด้วย ผู้หญิง 1 ค...