วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

วันโอลิมปิก (Olympic Day)



วันโอลิมปิก เป็นการเฉลิมฉลองวันคล้ายวันก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.1894 และได้ถือกำเนิดยุทธศาสตร์โอลิมปิกขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สำหรับผู้ที่ริเริ่มก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติคือท่านบารอน ปิแอร์ เดอ คูเบอแตงค์ ต่อมาท่านได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของโอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่ ดังนั้น วันที่ 23 มิถุนายนของทุกปี คณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ และคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ จำนวน 206 ชาติทั่วโลก จึงได้จัดงานมหกรรมการเฉลิมฉลองวันโอลิมปิกขึ้น เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของผู้ที่มีจิตวิญญาณโอลิมปิกที่ได้ทิ้งมรดกโอลิมปิกอันมีคุณค่ามหาศาลไว้ให้เด็กและเยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบทอดอุดมการณ์โอลิมปิกตราบนานเท่านาน

วิวัฒนาการของกิจกรรมวันโอลิมปิกได้พัฒนาต่อเนื่องมาเป็นลำดับดังนี้ ปฐมบทกิจกรรมวันโอลิมปิกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.1894 ซึ่งเป็นวันถือกำเนิดคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ และเป็นจุดเริ่มต้นของยุทธศาสตร์โอลิมปิก โดยมีสมาชิกร่วมการก่อตั้งทั้งสิ้น 12 ชาติ พร้อมลงคะแนนเสียงรับแนวความคิดของคูเบอแตงค์ในการรื้อฟื้นการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ
23 มิถุนายน ค.ศ.1948 ได้มีการจัดงานวันโอลิมปิกโลก (World Olympic Day) ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ 9 ชาติ ประกอบด้วย ออสเตรีย เบลเยี่ยม กรีซ แคนาดา อังกฤษ โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ อุรุกวัย และเวเนซุเอล่า ซึ่งทั้ง 9 ชาติดังกล่าวได้จัดงานเพื่อเฉลิมฉลองการก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติเป็นครั้งแรก

ค.ศ.1978 ธรรมนูญโอลิมปิก (Olympic Charter) ได้มีการระบุบทบัญญัติที่ว่าด้วยการส่งเสริมให้สมาชิกของคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ โดยเฉพาะคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติให้ดำเนินการจัดงานวันโอลิมปิกขึ้น เพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์โอลิมปิกและเป็นการเฉลิมฉลองการก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ

23 มิถุนายน ค.ศ.1978 คณะกรรมาธิการฝ่ายกีฬา คณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ ได้นำแนวคิดการจัดงานเฉลิมฉลองวันโอลิมปิกเป็นการวิ่งวันโอลิมปิก (Olympic Day Run) โดยกำหนดระยะทางวิ่ง 10 กิโลเมตร และคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติใช้แนวคิดนี้จัดกิจกรรมวิ่งวันโอลิมปิก จำนวน 45 ชาติทั่วโลก

23 มิถุนายน ค.ศ.2008 ครบรอบ 60 ปี การจัดงานเฉลิมฉลองวันโอลิมปิก และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนากิจกรรมการเฉลิมฉลองวันโอลิมปิกให้กว้างขวางมากขึ้น โดยจัดกิจกรรมวันโอลิมปิกบนพื้นฐานการส่งเสริมค่านิยมโอลิมปิกให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วทุกมุมโลกได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมวันโอลิมปิก

มีนาคม ค.ศ. 2009 แนวคิดขยับกาย ขยายการเรียนรู้ สู่การค้นพบ (Move Learn Discover) เป็นแนวคิดที่ผสมผสานการเรียนรู้ค่านิยมโอลิมปิกกับบริบทกิจกรรมที่หลากหลายของแต่ละประเทศ โดยใช้วันโอลิมปิกเป็นสื่อให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมและซึมซับค่านิยมโอลิมปิกไปพร้อมๆกับการเฉลิมฉลองการก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ

วันโอลิมปิก เป็นโอกาสที่ยอดเยี่ยมสำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนที่จะได้เรียนรู้ค่านิยมโอลิมปิกผ่านกิจกรรมสาระการเรียนรู้โอลิมปิกศึกษาจากหลักปรัชญาสู่การลงมือปฏิบัติ ประกอบด้วยหลัก 3 ประการ คือ 

           1. การเชื่อมโยงกิจกรรมการเรียนรู้จากค่านิยมโอลิมปิก (เช่น ประวัติความเป็นมาของโอลิมปิกเกมส์ ความหมายของสัญลักษณ์โอลิมปิก คบเพลิงโอลิมปิก ไฟโอลิมปิก คติพจน์โอลิมปิก คำปฏิญาณโอลิมปิก เป็นต้น)

          2. การสร้างงานศิลปะจากกิจกรรมการเรียนรู้ค่านิยมโอลิมปิก (เช่น การวาดภาพ การระบายสี การประดิษฐ์สัญลักษณ์โอลิมปิก การร้องเพลง การถ่ายภาพ เป็นต้น)

          3. กิจกรรมการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นหลักสำคัญของการเรียนรู้ค่านิยมโอลิมปิก (เช่น กิจกรรมทางกาย (physical activities) ทุกชนิดที่สอดแทรกการรับรู้ค่านิยมโอลิมปิก รวมถึงเกมการละเล่นและการแข่งขันกีฬา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ทักษะ และประสบการณ์จากหลักการและค่านิยมโอลิมปิก)

รวบรวมเเละเรียบเรียงโดย

ดร.สุริยัน สมพงษ์
สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย
14 พฤษภาคม 2561

วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2561

Olympic Values Education Program (OVEP) หลักสูตรค่านิยมโอลิมปิกศึกษา

The future of our civilisation does not rest on political or economic foundations. It wholly depends on the direction given to education.” (Pierre de Coubertin)

เป้าหมายของยุทธศาสตร์โอลิมปิก (Olympic Movement) คือ “การใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในการพัฒนามนุษย์อย่างมีดุลยภาพ พร้อมด้วยทัศนคติที่จะส่งเสริมสันติสุขของสังคมที่ตั้งอยู่บนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” โดยคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติมีพันธกิจสําคัญในการ “รณรงค์หลักพื้นฐานต่างๆและค่านิยมโอลิมปิกในประเทศนั้น โดยเฉพาะด้านกีฬากับการศึกษา โดยการประชาสัมพันธ์หลักสูตรโอลิมปิกศึกษาต่างๆในทุกระดับของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สถาบัน และมหาวิทยาลัยต่างๆด้านกีฬาและพลศึกษา” (Olympic Charter, 2017) โดยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่าการศึกษาและวัฒนธรรมคือหัวใจของยุทธศาสตร์โอลิมปิก



คณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ (International Olympic Committee-IOC) พัฒนาหลักสูตรค่านิยมโอลิมปิกศึกษา (Olympic Values Education Program) ด้วยแนวคิด “การศึกษาผ่านกีฬา” (education through sport approach) ในการจัดการศึกษาบนพื้นฐานของค่านิยม (values-based education) ที่จะสร้างเสริมทักษะชีวิตต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะปลูกฝังค่านิยมต่างๆของมนุษยชาติและการดึงดูดผู้เยาว์สู่กิจกรรมทางกายตั้งแต่อายุน้อยๆด้วย วัตถุประสงค์ของหลักสูตร คือ (ก) การบูรณาการออกกําลังกายกับค่านิยมศึกษา (ข) การใช้การศึกษากีฬาเพื่อสร้างชุมชน (ค) การเน้นยํ้าความสําคัญของการมีส่วนร่วมของพลเมือง และ (ง) การเร้าความรู้สึกของเยาวชนต่อประเด็นสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนามนุษย์ ภาวะผู้นําเยาวชน ความเท่าเทียมทางเพศ และอื่นๆ



หลักการสอนของหลักสูตรค่านิยมโอลิมปิกศึกษามี ๓ ประการคือ ประการแรก การเรียนรู้คือกิจกรรมที่ต้องลงมือปฏิบัติ ยิ่งผู้เรียนได้มีส่วนร่วมมากเท่าไร ผลสัมฤทธิ์และความสนุกสนานก็จะกลายเป็นประสบการณ์เรียนรู้มากขึ้นเท่านั้น ประการที่สอง การสนับสนุนการเรียนรู้มีหลากหลายวิธี กิจกรรมการเรียนรู้รวมหมายถึง การพูดและการฟัง การเล่น การเขียน การอภิปรายและถกเถียง กิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น ศิลปะ การละครและดนตรี ตลอดจนการเคลื่อนไหวร่างกายเช่น กีฬา การเต้นและพลศึกษา ประการสุดท้าย การเรียนรู้เป็นทั้งกิจกรรมเดี่ยวและกิจกรรมกลุ่ม แม้ว่าบางคนจะเรียนรู้ดีที่สุดด้วยตนเอง แต่ก็มีความจําเป็นที่จะต้องทํากิจกรรมร่วมกันเพื่อเรียนรู้และฝึกหัดความร่วมมือภายในกลุ่ม โดยสาระเรียนรู้ของหลักสูตรค่านิยมโอลิมปิกศึกษามี ๕ ประการกล่าวคือ (๑) ค่านิยมต่อความใฝ่พยายาม (Joy of effort) (๒) ค่านิยมต่อการเล่นอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม (Fair play) (๓) ค่านิยมต่อความเคารพให้เกียรติยกย่อง (Practicing respect) (๔) ค่านิยมต่อความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ (Pursuit of excellence) และ (๕) ค่านิยมต่อดุลยภาพของร่างกาย จิตใจ เเละสติปัญญา (Balanced between body, will and mind)

สื่อการเรียนรู้ของหลักสูตรค่านิยมโอลิมปิกศึกษาได้รับการพัฒนาและจัดเตรียมไว้อย่างพร้อมสรรพด้วยชุดปฏิบัติการและชุดแบบฝึกหัด (๓๔ กิจกรรม) พร้อมคู่มือการสอนและแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติมสําหรับการสอนในชั้นเรียนด้วยรูปแบบหลากหลายที่สามารถปรับใช้ในกลุ่มสาระเรียนรู้ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษา และพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ภาษาต่างประเทศ รวมทั้งกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทั้งในลักษณะกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียน และกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ โดยการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของหลักสูตรค่านิยมโอลิมปิกศึกษานั้น จะครอบคลุมทั้งการประเมินด้านความรู้ (knowledge) ด้านทักษะกระบวนการ (psychomotor) และด้านคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม (attitude) ด้วยเกณฑ์การประเมินใบงาน เกณฑ์การให้คะแนนการปฏิบัติ และเกณฑ์การให้คะแนนการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน ตามลําดับ

รวบรวมและเรียบเรียงโดย
ดร.สุริยัน สมพงษ์
สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย
28 มีนาคม 2561


สุนทรียะโตเกียวเกมส์ (ตอนที่ 1) #สาระน่ารู้พิธีเปิดโตเกียวเกมส์

สุนทรียะโตเกียวเกมส์ ตอนที่ 1 สาระน่ารู้พิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ 2020 1.ผู้เเทนนักกีฬาถือธงชาตินำขบวนพาเหรดของเเต่ละ NOC ประกอบด้วย ผู้หญิง 1 ค...