การออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพใจ (ฉบับบทคัดย่อ)
สังคมในยุคโลกาภิวัฒน์ ประชาชนส่วนใหญ่ต่างก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
และสิ่งต่างๆเหล่านั้นยังส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะประชาชนผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงและสมรรถภาพทางกายไม่ดีก็จะประสบกับปัญหาสุขภาพได้ง่าย
และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสมรรถภาพทางกายที่ดีจะเป็นผลมาจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ “การออกกำลังกายไม่ใช่เรื่องยาก
แค่เริ่มต้นตั้งใจปฏิบัติ โดยเลือกออกกำลังกายด้วยวิธีที่เหมาะสมก็ได้สุขภาพดีแล้ว”
ซึ่งผลที่ได้จากการออกกำลังกายนั้นจะทำให้อวัยวะมีการเจริญเติบโตเต็มศักยภาพ
มีความสมบูรณ์แข็งแรง ชะลอความเสื่อม และมีการพัฒนาทั้งรูปร่าง ความคิด จิตใจ และความสามารถในการทำงาน
ดังนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนให้คนมีพฤติกรรมการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อการมีสุขภาพกายและใจที่ดี สามารถเริ่มจากการสังเกตบุคคลรอบข้างและตัวเราเองให้เห็นถึงประโยชน์ของการออกกำลังกาย
โดยการสังเกตตนเองก่อนว่าชอบหรือสนใจที่จะออกกำลังกายอะไรที่เหมาะกับตัวเรา การเสริมแรงโดยการหาเพื่อนไปทำกิจกรรมร่วมกัน
สามารถก่อให้เกิดแรงจูงใจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญและมีบทบาทต่อพฤติกรรมของบุคคลในทุกด้าน
โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการออกกำลังกาย (Exercise Behavior) และการออกกำลังกายยังมีผลต่อสภาพจิตใจ
โดยสามารถช่วยลดภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความเครียด ซึ่งมีผลต่อร่างกายโดยตรง
ดังนั้น การสร้างแรงจูงใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการออกกำลังกาย
เช่น ผู้นำการออกกำลังกายที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังคงออกกำลังกายต่อเนื่อง โดยไม่เลิกหรือหยุดก่อนเวลาอันควร
และสิ่งที่ส่งผลต่อการสร้างแรงจูงใจก็จะมีปัจจัยสำคัญที่ประกอบด้วย สภาพแวดล้อม ความหลากหลายของกิจกรรม
และอิทธิพลของผู้นำกิจกรรมที่จะมีผลต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี
รวมถึงการสร้างประสบการณ์ในแง่บวกต่อการออกกำลังกาย ซึ่งจะหล่อหลอมให้คนเกิดการเห็นคุณค่าในตนเอง
(self esteem) จากการที่ได้แสดงความสามารถและเกิดความมั่นใจจากการเข้าร่วมกิจกรรม
ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเจตคติ (attitude) ที่ดีต่อการออกกำลังกาย
ในการนี้ การกำหนดโปรแกรมสุขภาพจึงเป็นการเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) โดยใช้การเสริมแรงทางสังคม (Social
Reinforcement) ซึ่งเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการซึมซับคุณค่าของการออกกำลังกาย
เพื่อการปรับพฤติกรรมการออกกำลังกายให้เป็นลักษณะนิสัย
จนกลายเป็นการเสพติดการออกกำลังกาย (Exercise Adherence)
และเป็นการเพิ่มกลุ่มประชากรของคนสุขภาพดีให้แก่สังคมไทย ดังนั้น การนำเสนอบทความ
เรื่อง “การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ” จะเป็นการสรุปผลการศึกษา
ค้นคว้า รวบรวมข้อมูลเพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โดยการทบทวนวรรณกรรมและนำข้อมูลเชิงประจักษ์มาสร้างแผนส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
ทั้งในการส่งเสริมเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการที่เหมาะสมสำหรับบุคคลและสังคม
โดยมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะสร้างให้เป็นหน่วยงานต้นแบบในการส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพใจอย่างพอเพียงและยั่งยืนต่อไป
คำสำคัญ: การออกกำลังกาย,
สุขภาพกาย, สุขภาพใจ
เรียบเรียงโดย
สุริยัน สมพงษ์
11 พฤศจิกายน 2558
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น